วัดหนองบัวเป็นวัดที่เก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว
ต. ป่าคา อ. ท่าวังผา จ. น่าน จากคำบอกเล่าไว้เดิมวัดหนองบัวตั้งอยู่ที่ริมหนองบัว
(หนองน้ำประจำหมู่บ้าน) ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งวัดปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ
500 เมตร ปัจจุบันไม่มีซากโบราณสถานเหลืออยู่เลย ต่อมาได้มีการย้ายวัดมาที่ปัจจุบันนี้
วัดหนองบัวสันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2405
โดยการนำของครูบาหลวงสุนันต๊ะร่วมกับชาวบ้านหนองบัวสร้างขึ้น
จึงทำให้วิหารหนองบัวแห่งนี้ เป็นสถาปัตยกรรมไทยล้านนาที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
ซึ่งหาดูได้ยากมากในสมัยนี้ และพระวิหารหนองบัวแห่งนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังแบบโบราณที่สวยงามอีกด้วย
ประวัติวัดหนองบัวและประวัติจิตรกรรมไม่มีหลักฐานบันทึกไว้
การสืบประวัติจะต้องอาศัยข้อมูลจากสองทางด้วยกันคือ
1. การสืบประวัติจากคำบอกเล่า
ท่านพระครูมานิตย์บุญการ หรือ ครูบาปัญญา ผู้เป็นชาวบ้านหนองบัวโดยกำเนิดถือว่าเป็นผู้รู้ท่านหนึ่งได้เล่าไว้ว่านายเทพผู้เป็นบิดาของท่านได้เป็นทหารของเจ้าอนันต๊ะยศ
เจ้าผู้ครองนครน่านในขณะนั้น( เจ้าอนันต๊ะยศ ครองเมืองน่านเมื่อ พ.ศ.2395 –2434
)ต่อมานายเทพได้ติดตามทัพไปรบที่เมืองพวนซึ่งเป็นเมืองในแคว้นหลวงพระบาง หลังจัดการศึกเรียบร้อยแล้วจึงยกทัพกลับเมืองน่าน
นายเทพได้นำช่างเขียนลาวพวนชื่อว่า ทิดบัวผัน
มาเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัวแห่งนี้ โดยมีพระภิกษุวัดหนองบัวชื่อ แสนพิจิตร
และนายเทพเป็นผู้ช่วยเขียนเสร็จ จิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว จังหวัดน่าน
2. การสืบประวัติจากรายละเอียดของจิตรกรรม
ภาพเรือกลไฟและรูปทหารชาวฝรั่งที่ผนังด้านทิศเหนือเป็นสิ่งที่สามารถ
นำมาประเมินอายุของจิตรกรรมได้
ตามประวัติของเรือกลไฟว่าเรือกลไฟมีแหล่งกำเนิดในยุโรปและอเมริกา
ในประเทศไทยมีหลักฐานในจดหมายเหตุหลายแห่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีเรือกลไฟใช้ตั้งแต่
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงสันนิษฐานว่าช่างเขียนคงเห็นและนำแบบมาเขียนไว้
และยังมีรูปปืนยาวแบบฝรั่งคือมีดาบติดปลายปืนด้วย
เดิมคนไทยรู้จักใช้ปืนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
รูปแบบปืนมีปลายกระบอกยาวแต่ไม่ปรากฏว่ามีดาบปลายปืน ปืนที่ตัดดาบปลายปืนเป็นแบบฝรั่งที่นำมาใช้แพร่หลายในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่
4 ถึง รัชการที่ 5 เป็นต้นมา จึงประเมินอายุจิตรกรรมว่าคงอยู่ในราวสมัย รัชการที่
4 ถึง รัชการที่ 5
สิ่งสำคัญที่ทรงคุณค่าของวัดหนองบัว
• วิหารวัดหนองบัว วิหารมีขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 19 เมตร
ลักษณะเป็นวิหารขนาดย่อม รูปทรงเตี้ยแจ้ โดยเฉพาะหลังคายาวคลุมต่ำมาก
อาคารตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำเป็นฐานปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ด้านหน้าย่อมุมเป็นมุขโถง เนื้อที่ใช้สอยภายในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าที่
เป็นมุขโถงทำเป็นบันได มีสิงห์ยืนเฝ้าที่ประตูข้างละ 1 ตัว บริเวณมุขโถงจะก่อเป็นผนังอิฐสอปูน
ระดับเหนือ ผนังเป็นลูกกรงลูกมะหวดไม้กลึง
ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสตลอดผนังชั้นซ้อนหลังคา ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2
เป็นผนังทึบมีหน้าต่างเป็นบานเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านละ 1 ช่อง
เนื้อที่ใช้สอยส่วนที่ 2 เป็นตัวอาคารใหญ่ ผนังก่ออิฐแบบกว้างสลับยาว
ขอบบนของผนังเป็นรูปลดระดับตามชั้นลดของหลังคา ผนังหุ้มกลองด้านหลัง
เป็นผนังทึบตัน ส่วนผนังหุ้มกลองหน้ามีประตูอยู่ตรงกลาง 1 ช่อง
ประตูนี้เป็นตัวเชื่อมระหว่าง
เนื้อที่มุขโถงกับเนื้อที่ภายในอาคารแสงสว่างจากภายนอก
ส่วนใหญ่จะส่องผ่านทางมุขโถง ส่วนผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้
มีช่องหน้าต่างด้านทิศเหนือ 7 ช่อง ทิศใต้ 6 ช่อง หน้าต่างเดิมมีขนาดเล็ก
(เข้าใจว่า มีขนาดเท่ากับหน้าต่างที่ผนังด้านหน้า) ต่อมาได้เจาะขยาย
เมื่อปีพุทธศักราช 2469 ที่ผนังด้านเหนือมีประตูอีกทางหนึ่ง
อยู่ระหว่างกลางผนังประตูทางเข้าด้านข้างนี้ ทำเป็นมุขยื่นออกไป
มีหลังคาชั้นเดียวที่ผนังด้านทิศใต้ ทำแท่นสำหรับพระสงฆ์นั่งเทศน์เรียกว่า
"ฐานสงฆ์" เป็นแท่นฐานปัทม์ก่ออิฐถือปูน
หลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องดินขอรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาในประธานเป็นชั้นซ้อน
2 ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และมีหลังคาปีกนกลาดลงอีกชั้นละ 1 ตับ
หลังคาที่คลุมมุขโถง และหลังคาอาคารลดชั้นต่ำกว่ากันมาก พื้นหลังคาทั้ง 2 ส่วน
คลุมยาวลงต่ำมาก ใช้รูปสัตว์ประดับบนเครื่องไม้ทั้งหมด หน้าบันเป็นลายแกะไม้
ติดกระจกตามช่องที่อุดหน้าปีกนก เป็นลายเครือเถาลายนูนเด่นออกมา ช่องไฟระหว่างลายห่าง
เน้นตัวลายมากกว่าปกติ ลักษณะอาคารเน้นทางเข้าด้านหน้า
โดยสังเกตได้จากการทำขนาดประตูมุขโถงสูงใหญ่และเปิดโล่ง
มีเชิงชายรูปกระจังประดับและใช้สิงห์คู่ประดับอยู่ข้างประตูวิหารแห่งนี้
นับเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อที่สวยงามทรงคุณค่าทางศิลปะอย่างยิ่งและหาดูได้ยากในปัจจุบัน
• จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดหนองบัวแห่งนี้
นับว่าเป็นจิตรกรรมที่มีคุณค่าทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมมาก
ภาพจิตรกรรม แบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ 1 : ภาพจิตรกรรมเรื่องจันทคาธชาดก
เขียนบนฝาผนัง 3 ด้าน คือ ผนังหุ้ม กลองด้านหน้าผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้
เริ่มตั้งแต่ผนังด้านทิศเหนือ มุมสุดข้างพระประธาน
ดำเนินเรื่องเรื่อยมาถึงผนังหุ้มกลองด้านหน้า
และวกไปจนสุดผนังด้านทิศใต้ที่มุมสุดข้างพระประธาน จันทคาธชาดกนี้
นับเป็นวรรณกรรมที่สำคัญเรือ่งหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นนิทานธรรมเก่าแก่อันดับที่ 11 ใน
ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค ชาวบ้านในภาคเหนือเรียกว่า "ค่าวธรรม"
ซึ่งปรากฎในภาพเขียนที่วิหารวัดหนองบัวแห่งนี้ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนที่ 2 : ภาพพุทธประวัติที่เบื้องหลัง
พระประธานเป็นอดีตของพระพุทธเจ้า และตอนบนสุดของฝาผนังตรงข้ามพระประธาน
เป็นตอนพระอินทร์เสด็จลงมาดีดพิณถวายพระพุทธเจ้า สายที่ 1 ตึงเกินไปสายจึงขาด
สายที่ 2 หย่อนเกินไปทำให้ไม่เกิดเสียง ส่วนสายที่ 3 ขึงตึงพอดี
ทำให้เกิดเสียงไพเราะ พระพุทธเจ้าทรงได้สติจึงยึดถือ
เป็นแนวปฏิบัติบำเพ็ญธรรมจนบรรลุพระโพธิญาณ สมประสงค์ (ก่อนที่ผู้เขียนจะเขียนภาพบนฝาผนัง
ได้ร่างรูปภาพลงในสมุดข่อยก่อนและสมุดข่อยเล่มนี้ยังเก็บรักษาไว้ที่วัดหนองบัว)
เรื่องราวเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัวนั้น
ท่านพระครูมานิตบุญญการ(ครูบาปัญญา) ซึ่งเป็นชาวไทลื้อบ้านหนองบัว เกิดเมื่อปี
พ.ศ. 2437 มรณภาพ พ.ศ. 2524 พระคุณเจ้าท่านนี้เป็นผู้ที่รู้เรื่องราวประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านหนองบัวนี้เป็นอย่างดียิ่ง
โดยท่านได้เล่าให้คนรุ่นลูก รุ่นหลานฟังต่อๆ มากันมาว่า นายเทพ
ซึ่งเป็นบิดาของท่าน ตอนนั้น นายเทพอายุได้ 24 ปี ตรงกับ พ.ศ.2410
เล่าให้ท่านพระครูฟังว่า นายเทพได้สึกจากพระภิกษุ เจ้ารับราชการเป็นทหารของพญาอนันตยศ
เจ้าผู้ครองนครน่าน (ตรงกับรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาได้สถาปนาเป็น
เจ้าอนันตวรฤทธิเดช) ขณะนั้น นายเทพได้ติดตามกองทัพเมืองน่านไปรบกับเมืองพวน
ซึ่งเป็นเมืองในปกครอง ของแคว้นหลวงพระบาง เมื่อยกกองทัพไปประชิดเมืองพวนแล้ว
เจ้าเมืองพวนยอมอ่อนน้อมจึงเข้ายึดเมืองพวน หลังจากเสร็จศึกสงครามแล้ว
จึงยกกองทัพกลับ นายเทพได้ขอเอาช่างเขียนลาวพวนมาคนหนึ่งชื่อว่า ทิดบัวผัน (ทิด
ภาษา ทางภาคเหนือ เรียกว่า หนาน หมายถึง คนที่เคยบวชเป็นพระภิกษุมาแล้ว)
และได้นำทิดบัวผันติดตามกองทัพเมืองน่านมา โดยให้มาเป็นช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดหนองบัว
การเขียนครั้งนั้นยังมีพระภิกษุวัดหนองบัวรูปหนึ่ง ชื่อ แสนพิจิตร
พร้อมกับนายเทพเป็นผู้ช่วยเขียนจนแล้วเสร็จ ใช้เวลาเขียนนานเท่าใดไม่ปรากฎหลักฐาน
จากนั้นจึงได้อนุญาตให้ทิดบัวผันเดินทางกลับเมืองพวน แคว้นหลวงพระบางตามเดิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น